ลืมรหัสผ่าน / สมัครสมาชิก

สถิติวันนี้ 126 คน
สถิติเดือนนี้ 904 คน
สถิติปีนี้ 17,797 คน
สถิติทั้งหมด 230,594 คน
ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2554
  • ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ศูนย์ใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน
  • ၸုမ်းၾၢႆႇလဵပ်ႈႁဵၼ်းလွင်ႈတႆး ဝိတ်းထယႃးလႆးႀုမ်းႀူၼ်းမႄႈႁွင်ႈသွၼ် ႁူမ်ၸူမ်းႁပ်ႉတွၼ်ႈယူႇၶႃး

เวทีเสวนาวิชาการวัฒนธรรมไทใหญ่และลานกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมไทใหญ่

(12/02/2016 เวลา 16:09:49)

1.       เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ แม่บ้าน ผู้ประกอบการอาหาร มัคคุเทศก์นำเที่ยว และอื่นๆ ให้มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการมากยิ่งขึ้น

2.       เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่จัดแสดงวัฒนธรรมประเพณีของเมืองแม่ฮ่องสอนให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นและสร้างแรงจูงใจมาเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยว

3.       เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ในการพัฒนาและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ ให้เกิดประโยชน์ทางด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว และการสืบทอดมรดกอันดีงามแก่คนรุ่นใหม่ในชุมชนไทใหญ่

กล่าวเปิดการเสวนาวิชาการวัฒนธรรมไทใหญ่ โดย  นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน

สรุป

          ความหลากหลายของชาติพันธุ์ในแม่ฮ่องสอน และการอยู่ร่วมกันโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน

          - การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกัน สร้างความเข้มแข็งไม่ให้เกิดความแตกแยก แบ่งแยก สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความเข้มแข็ง

          - เป็นโอกาสที่ดีที่มีศูนย์ไทใหญ่ศึกษาเป็นแกนกลางในการหนุนเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนในกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่

          - ในส่วนของวัฒนธรรมประเพณี ยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่เกิดความเข้มแข็ง ยังมีการขายวัฒนธรรมในเชิงของการท่องเที่ยว การนำไปทำในที่อื่นๆ

          - ระเด็นที่น่าเป็นห่วงและต้องการให้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เช่น การแต่งกายของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี เช่น ปอยส่างลอง การดื่มสุราในงานประเพณี

          - การรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้วยตัวของคนในชุมชนเอง ให้มองว่าการมีงบสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างเป็นเพียงตัวมาช่วยหนุนเสริม แต่ทุกอย่างต้องเริ่มด้วยความตระหนัก สำนึกของคนในแม่ฮ่องสอนเอง

          - นโยบายของจังหวัดให้ความสำคัญในการส่งเสริมด้านการศึกษา เนื่องจากศักยภาพของเด็กในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนยังมีพื้นฐานด้านการศึกษาที่ค่อนข้างต่ำ ยังไม่สามารถแข่งขันกับที่อื่นๆได้ โดยดูจากจำนวนนักเรียนที่สอบได้หรือสอบติดในโควต้าสถาบันการศึกษาต่างๆ  ประเด็นฐานะความยากจนของครอบครัวที่ยังไม่เอื้อต่อการเสริมศักยภาพให้กับเด็ก

          - ในภาคการศึกษา ศูนย์วัฒนธรรมไทใหญ่จะมีส่วนร่วมในการหาทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร

          - การสร้างหอพักให้กับเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาส ร่วมกับมีการฝึกวิชาชีพให้กับเด็กในหลายๆด้าน เป็นศูนย์วิจัย

          - สร้างให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ไทใหญ่ศึกษา ร่วมกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์ด้านการท่องเที่ยว แหล่งศึกษาดูงาน บริหารจัดการให้ศูนย์ดูแลตัวเอง

          - เป็นศูนย์เรียนรู้ที่รวมทุกมิติ ทั้งด้านวัฒนธรรม ด้านอาชีพ ด้านการศึกษา

          - เพื่อลดปัญหาการออกไปเรียนนอกพื้นที่ของเด็กเยาวชน และเกิดการเปลี่ยนแปลงหลงลืมวัฒนธรรมของตนเอง

          - ทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงเด็กเยาวที่มีศักยภาพกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน

บรรยายพิเศษ เรื่อง แนวคิดกระบวนการศึกษาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ไทใหญ่ในศตวรรษที่ 21”

โดย ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ

สรุปเรื่อง

          ไทยกำลังก้าวสู่ประชาคมอาเซียน การศึกษาเป็นเสาหลักหนึ่งของการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน

          ในมิติทางด้านวัฒนธรรม  คนข้างนอกอาจจะมีปัญหาในความเข้าใจที่ถ่องแท้ทางวัฒนธรรม ในขณะที่คนภายในมีความรู้มีความเข้าใจเป็นอย่างดี แต่อาจจะมองผ่านเลยความสำคัญบางจุดบางเรื่องมองเป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้ตั้งคำถามกับบางเรื่องที่อาจจะมีความสำคัญ ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือที่เชื่อมโยงระหว่างแนวคิดมุมมองของคนภายในกับคนภายนอก

          ประการแรก ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมฯ ของตนเอง เป็นสิ่งที่ควรมี แต่ต้องไม่ลืมว่าเราอยู่ในความหลากหลายของวัฒนธรรม และมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมที่แตกต่าง

          บริบททางประวัติศาสตร์  ในเส้นทางความเป็นมาของชาติพันธุ์ไทใหญ่ ได้มีการพบปะสัมพันธ์กับกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ที่เป็นคนพื้นถิ่น ต่างๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เกิดการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ มีความผสมกลมกลืนกัน มาโดยตลอด ดังนั้นในมิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเรามีความสัมพันธ์ ผสมกลมกลืนกันมาโดยตลอด ถ้าเราเข้าใจในทางประวัติศาสตร์นี้ เมื่อเราพูดถึงชาติพันธุ์ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

          ประการที่สอง บริบทของการบูรณาการของรัฐชาติ ในมิติความเป็นรัฐชาติ เราอยู่ในบทบาทของความเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีขนาดใหญ่และอยู่ท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  ซึ่งอยู่ร่วมกันในฐานะของความเป็นพลเมืองไทย  การที่เราถูกเรียกว่าอย่างไร หรือเราเรียกคนกลุ่มอื่นๆว่าอย่างไร ควรคำนึงถึงเรื่องของความเป็นรัฐชาติเดียวกันด้วยเช่นกัน  การมีความเข้าใจในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย อย่างในรัฐฉาน ก็จะมีการแบ่งกลุ่มคนตามเมืองต่างๆ เป็นกลุ่มย่อย ๆ

          ในมิติของเวลา ที่มีการเคลื่อนย้ายอพยพเข้าไปอยู่ในที่ต่างๆ อาจจะเกิดการถูกมองว่าเป็นไตใน ไตนอก ดังนั้นในทางวิชาการ ต้องทำความเข้าใจและระวังในเรื่องแนวคิดเช่นนี้ด้วยเช่นกัน

          ในมิติของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมวิถีชีวิต บางเรื่องที่จำเป็นต้องเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน บางเรื่องที่ต้องอนุรักษ์ไว้ก็ควรอนุรักษ์ไว้

          ในมิติของการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน  ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเราจะดำรงอัตลักษณ์ความเป็นไต ไว้อย่างไร  เราอาจจะต้องมองถึงความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมในเชิงของการสร้างวัฒนธรรมที่กินได้


ประเด็นท้าทายในการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่

          การศึกษาโดย คนนอก ปัญหา : ต้องใช้เวลาในการไขรหัสของวัฒนธรรม ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลลึก

          การศึกษาโดย คนในหรือ การศึกษาตนเอง ปัญหา: มักมองข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องธรรมดา มีความโน้มเอียงที่จะมีอคติ

การมองกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะที่สัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น

          • อัตลักษณ์ชาติพันธุ์เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ (เรา - เขา)

          • กลุ่มชาติพันธุ์ กับรัฐชาติ (กลุ่มชาติพันธุ์ที่กุมอำนาจรัฐ)

          • การนิยามตนเอง และการถูกนิยามด้วยคนอื่น

ความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์

          • ท้องถิ่น/พื้นที่

          • มิติของเวลา

          • สถานการณ์

เข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์ในสถานการณ์/บริบทที่แตกต่าง

          • บริบททางประวัติศาสตร์

          • บริบทของการบูรณาการของรัฐชาติ

          • ASEAN Connectivity (ความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรม

การท่องเที่ยว และการค้าชายแดน )

          • บริบทของโลกาภิวัตน์ (Local/Global)

          • หลีกเลี่ยงการมองอย่างสารถัตนิยม

          • Essentialism

          • Romanticism

          • Ethnocentrism

แนวโน้มของการศึกษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์

อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ มีความหมายแค่เพียง

          • ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ

          • ภาษา วรรณกรรม

          • เครื่องแต่งกาย บ้านเรือน อาหาร

ประเด็นที่มักถูกละเลย

          • สำนึกทางชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา

          • วิถีการดำรงชีวิต (เศรษฐกิจ การค้า)

          • อำนาจ และการเข้าถึงทรัพยากร (การถูกกีดกัน หรือถูกเบียดขับ )

          • ประเด็นเกี่ยวสิทธิทางวัฒนธรรม นโยบายทางด้านภาษาสิทธิชุมชน

ประเด็นที่ควรศึกษา

          1. การประเมินสถานภาพไทใหญ่ศึกษา

          การประเมินสถานภาพไทใหญ่ศึกษาในแง่วิชาการต้องสำรวจว่าเรามีความรู้ในเรื่องวัฒนธรรมไทใหญ่มากน้อยแค่ไหน มีการศึกษาของนักวิชาการทั้งชาวไท-ต่างชาติ เรามีการรวบรวมบันทึกไว้มากน้อยแค่ไหน เรายังขาดความรู้เรื่องอะไร

          2. ประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของชาวไต/ไท

          3. เส้นทางการค้าทางเรือของพ่อค้าไทใหญ่ / เศรษฐกิจการค้าชายแดน

          4. ครอบครัว และระบบเครือญาติไต/ไท

          ข้อสังเกตแม่ฮ่องสอนก้าวเข้าสู่ของความเป็นเมืองของผู้สูงอายุหรือยัง การส่งลูกหลานออกไปเรียนข้างนอก ผู้สูงอายุขาดการดูแลหรือไม่ ความเข้มแข็งของครอบครัวอยู่ในระดับไหน

          5. ระบบอุปภัมภ์และการเมืองท้องถิ่นในชุมชนไต/ไท

          6. วิถีชาติพันธุ์ไต/ไทและความทันสมัย

          7. การค้าข้ามแดน ผู้ค้าข้ามแดน: เศรษฐกิจนอกระบบ

          8. ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทใหญ่สองฝั่งสาละวิน

          9. แม่สะเรียง: พหุวัฒนธรรมในสังคมไทใหญ่

          10. ปายที่แปรเปลี่ยน: ชุมชนไทใหญ่กับการต่อรองทางวัฒนธรรม

          11. ครูหมอไต จเร และพระสงฺฆ์ ในกระบวนการอนุรักษ์วัฒนธรรมไต/ไท

          12. ชุมชนไต/ไทในการปรับตัวสู่ประชาคมอาเซียน

          13. สานศิลป์ถิ่นไต: เครือข่ายสังคมข้ามแดน

          14. ปอยปีใหม่ไต: การประกอบสร้างสัญญวัฒนธรรมไต/ไทในบริบทประชาคมอาเซียน

ยุทธศาสตร์ในการศึกษาวัฒนธรรมชาติพันธุ์ไต/ไท

          1. สร้างทีมวิจัย อบรมนักวิจัย สร้างนักวิจัยชาวไต-ไท เชื่อมโยงกับผู้รู้ ผู้อาวุโส จเร ชุมชนฯลฯ

          2. กระบวนการคิดเพื่อสร้างปัญหาในการวิจัย ผ่านประชุมเชิงปฏิบัติการ การทำเรียนรู้การสร้างโจทย์ ที่มีเป้าหมายในการสร้างสำนึกชาติพันธุ์ และการพัฒนา

          3. ปฏิบัติการ และทบทวนบทเรียน ผ่านเวทีวิชาการ

 

หัวข้อปอยปีใหม่ไต อัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ คงอยู่หรือสูญสิ้น (ผู้ร่วมเสวนา ครูส่างคำ จางยอด, พ่อครูปายเมือง ลายใส)

สรุป

พ่อครูปายเมือง ลายใส

ประเด็นความสำคัญที่ต้องมีปอยปีใหม่ไต 

          - การสูญเสียดินแดนของชาวไต และอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลประเทศเมียนมาร์

          - ความสัมพันธ์ ความสามัคคี และความคิดเห็นที่เหมือนและแตกต่างของผู้นำกลุ่มต่างๆ

          - ที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการเอาความสนุกสนานรื่นเริงมาเป็นส่วนสำคัญมากกว่าการนำเอาภูมิปัญญาวัฒนธรรมมาเป็นส่วนสำคัญในการจัดปอย

          - หาผู้ที่มีความรู้ภูมิปัญญาอย่างแท้จริง ผู้รู้ที่ปฏิบัติในศีลธรรมอย่างเคร่งครัด ได้ยาก

          - มีการจัดทำบันทึกความเป็นมาและความสำคัญ ตลอดจนแนวทางหรือวิธีการปฏิบัติในการจัดงาน ปีใหม่ไต ไว้ค่อนข้างละเอียด ว่าต้องทำอะไรอย่างไรในช่วงเวลาไหนบ้าง

          - บันทึกการศึกษา ความรู้เกี่ยวกับปีใหม่ไต ได้มีการจัดทำไว้หลากหลายแหล่งหลายที่ อาจจะมีความเหมือนความต่างกันไปดังนั้นหากจะมีการศึกษาร่วมกันน่าจะเป็นการดีเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

ครูส่างคำ จางยอด

          - แม่ฮ่องสอนยังเป็นเมืองที่รักษาคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นไทใหญ่ไว้ ทั้งภาษาพูด การแต่งกาย วัฒนธรรมประเพณี

          - ปอยปีใหม่ไต มีการปฏิบัติมาตั้งแต่อดีตกาล แต่ขาดการบันทึกไว้เนื่องด้วยที่ต้องขึ้นอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของเมียนมาร์ มีความเกรงกลัวที่จะทำบันทึกไว้  

          - มีเอกสารบันทึกการนับวัน ปี เดือนของชาวไต และการอธิบายถึงความสัมพันธ์กับช่วงเวลาของธรรมชาติไว้อย่างละเอียด และเป็นฐานที่มาของการกำหนดวันปีใหม่ไต

          - ควรมีการจัดทำการศึกษาวิจัยในเรื่อง ปีใหม่ไต เพื่อให้เกิดการจัดปอยปีใหม่ไตอย่างเหมาะสมและถูกต้อง และเกิดประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการจัดปีใหม่ไตอย่างแท้จริง  และมีการเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

          - ความสำคัญของปีใหม่ไต ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับในเรื่องของทางศาสนาโดยตรง และไม่ได้เกี่ยวข้องกับในเรื่องของประวัติศาสตร์ความเป็นชาติไต

          - ความสำคัญของปีใหม่ไต นั้น อยากให้ตระหนักและคิดว่าเป็นวันของครอบครัว การขอขมาผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่จำเป็นต้องไปจัดงานยิ่งใหญ่ ทุกคนสามารถทำได้ในครอบครัว

ผู้นำชุมชนบ้านคาหาน

          - ทางชุมชนได้มีการจัดงานปีใหม่ไตต่อเนื่องมาสองปี โดยการสนับสนุนจากวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

          - เน้นในเรื่องของการแต่งกาย การจัดเรื่องอาหารการกิน การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม

ประวัติของปอยปีใหม่ไต (นายประเสริฐ ประดิษฐ์)

          ปีใหม่ไต เริ่มต้นครั้งแรกเป็นมาอย่างไรนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการของชาวไต ได้ลงความเห็นร่วมกันตามหลักฐานที่สืบค้นได้ว่า ปีใหม่ไต ได้เริ่มต้นเมื่อปีพ.ศ. 450 ก่อนคริสตศักราช 95 ปี มีการเริ่มนับปีเมื่อครั้งอาณาจักรไตได้นำเอาพระไตรปิฏกเข้ามาจากประเทศอินเดียเป็นปีแรก

          ในขณะที่พวกไตอีกกลุ่มหนึ่ง เริ่มนับปีครั้งเมื่อเจ้าฟ้าเมืองไตในอาณาจักรไตมาว ได้รวบรวมบ้านเมืองขึ้นเป็นปึกแผ่น เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งพวกไตทั้งสองกลุ่มต่างก็นับเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนเจ๋ง (อ้าย) เป็นวันปีใหม่

          ต่อมา ในปีพ.ศ. 2098 ตรงกับ ค.ศ. 1555 อาณาจักรไตได้ถูกอิทธิพลของพม่าเข้าคุกคาม ครอบงำ และในปีพ.ศ. 2136 ได้ถูกอิทธิพลของอาณาจักรจีนเข้าครอบงำอีก จึงทำให้ชาวไตดังกล่าว เปลี่ยนไปยึดถือวันปีใหม่ตามอาณาจักรที่ปกครองครอบงำเหล่านั้น ระยะหนึ่ง

          ครั้นต่อมา ในปีพ.ศ. 2509 ซึ่งตรงกับคศ. 1966 คณะกรรมการภาษาและวัฒนธรรมเมืองมาว (ก๋อลีกลายฟิงเหง้เมืองมาว) ได้ฟื้นฟู วันปีใหม่ไตขึ้น พออีกหนึ่งปีต่อมาได้ขยายไปยังเมืองล้าเสี้ยว และอีกสามปีต่อมาก็ขยายไปยังชาวไตทางตะวันออก และตอนใต้ แล้วเริ่มต้นยึดถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนเจ๋ง เป็นวันปีใหม่ของชาวไตอย่างพร้อมเพรียงกันอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2518

          สำหรับชาวไตในประเทศไทยนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 คนไตสัญชาติไทย ซึ่งมีลุงทุน ลุงแสง และลุงจายจื้น ได้รณรงค์จ้ดงานปีใหม่ไตขึ้นทุกปีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยยึดถือเป็นประเพณีของชาวไตบ้านใหม่หมอกจ๋าม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

กิจกรรมและพิธีกรรมในการจัดงานปีใหม่ไต มีดังนี้

          วันแรม 15 ค่ำ เดือน 12 (วันเดือนดับ) เรียกว่า วันรับเจ๋ง หรือวันรับต้อนปีใหม่ ซึ่งจะมีพิธีทางศาสนา มีการเตรียมอาหารและขนมต่างๆเพื่อเลี้ยงดูกันในวันปีใหม่ มีพิธีฮอลีก มีการเล่นสนุกสนานตามวัฒนธรรมท้องถิ่น อาจมีการต้อนรับปีใหม่เมื่อย่างเข้าเวลา 1 นาฬิกา หรือหลังเที่ยงคืน

          วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน เจ๋ง ซึ่งตรงกับวันปีใหม่ จะมีการถวายและให้ทานข้าวใหม่และขนมต่างๆให้กับญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง มีการทำบุญเลี้ยงพระ รวมทั้งจัดเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานในกรณีทำบุญที่วัด มีการละเล่นต่างๆ การแข่งขัน และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ในระยะหลังอาจนำเอาวันไหว้ครูหมอไตมาจัดรวมกันกับวันปีใหม่ด้วย ซึ่งจะเน้นกิจกรรมบูชาครูหมอไตและการฮอลีกเป็นหลัก ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของท้องถิ่นนั้นๆ นั่นเอง

หัวข้อปอยยกย่องเชิดชูครูหมอไต เรื่องใหม่ของแม่ฮ่องสอน

สรุปเรื่อง

          ประวัติความเป็นมา ความสำคัญ ความเชื่อ และกระบวนการจัดปอยยกย่องครูหมอไต

โดย ครูส่างคำ จางยอด, นางสาวแสงระวี เมืองดี

ประวัติการจัดงานครูหมอไตย (โดย นางสาว แสงระวี เมืองดี)

          7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 SSA จัดงานวันชาติไตยขึ้นเป็นครั้งแรก (ปอยวันไตย) เพื่อให้เป็นศูนย์รวมชาวไตยผู้รักชาติในการกอบกู้เอกราช แต่ถูกทางการสั่งห้ามเพราะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง

          พ.ศ. 2518 คณะกรรมการจัดงานประชุมหารือเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานแต่ยังคงวัตถุประสงค์เดิมเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพบปะของพี่น้องชาวไตยทั่วทุกภาคทั้งในเมืองไทยและเมืองไตย (โดยมีลุงขุนมห่า อู๋คำสร้อย เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ 11 คน)

          กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 คณะกรรมการจัดงานเปลี่ยนมาเป็น ปอยวันยกย่องครูหมอไตยแทน เพื่อให้ผู้มาร่มงานรู้สึกสบายใจในการมาร่วมงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเจ้าครูหมอไตย ในงานมีการกล่าวถึงความเป็นมาของครูหมอไตยและมีการฮอลีกโหลง การเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานได้รับเสียงตอบรับจากพี่น้องชาวไตยอย่างมากมาย

          2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 (ตรงกับ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระเทพฯ,สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จเยี่ยมวัดหมอกจ๋าม ซึ่งตรงกับการจัดงานยกย่องครูหมอไตย

หมายเหตุ

          1. ตามบันทึกจากคำบอกเล่าล้นเกล้าฯทั้งสองทรงเสด็จเยี่ยมบ้านใหม่หมอกจ๋ามถึง 7 ครั้ง ในระหว่างปี พ.ศ. 2516-2522 ในที่นี้ตรงกับการจัดปอยยกย่องครูหมอไตยถึง 2 ครั้ง

          2. จากบันทึกของโครงการหลวงล้นเกล้าฯทั้งสองทรงเสด็จเยี่ยมวัดหมอกจ๋าม 2 ครั้ง (ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2519 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520) “ล้นเกล้าทั้งสองยังทรงตรัสถึงชาวไตทั้งหลายว่า ให้รู้จักรักษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี อันดีงามของชาวไตยไว้ ชั่วกาลนาน

          3. จากพระดำรัสข้างบนคณะกรรมการจัดงานปอยยกย่องครูหมอไตยจึงได้มีมติให้ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีเป็นวันจัดงาน ปอยยกย่องครูหมอไตยเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่การจัดงานสืบมา


 

พิธีกรรมทางศาสนา

          * บูชาพระรัตนตรัย

          * อาราธนาศีล ทำพิธีไหว้เจ้าครูหมอ

          * กล่าวถึงความเป็นมาของเจ้าครูหมอ

          * ฮอลีกโหลง

          * ถวายไทยทาน

          * กรวดน้ำแผ่กุศลให้เจ้าครูหมอ

          * พระสงฆ์อนุโมทนา

วัตถุประสงค์ของการจัดงาน

          1. เพื่อเชิดชูเกียรติเจ้าครูหมอไตย

          2. เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาวไทยใหญ่ให้ยั่งยืนสืบไป

          3. เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ประเพณีอันดีงามนี้

          4. เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามนี้ให้แก่ประชาชนทั่วไป

          5. เพื่อเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันของฟี่น้องชาวไทยใหญ่

ครูส่างคำ จางยอด  

          วันยกย่องเจ้าครูหมอไต  เป็นวันที่เรา/คนในรุ่นปัจจุบัน จะได้รับรู้ประวัตินักปราชญ์ผู้รู้ ที่มีความสำคัญต่อคนไตจากหลากหลายที่ ด้วยแนวความคิด “ถ้าไม่มีเมื่อวานก็ไม่มีวันนี้ ถ้าไม่ทำวันนี้ก็จะไม่มีให้เห็นในวันข้างหน้า” “กินน้ำอย่าลืมคนขุดบ่อ กินข้าวอย่าลืมคนขุดคันนา”  ดังการที่เราได้อยู่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้ก็เป็นผลมาจากผู้รู้ในสาขาต่างๆที่ได้ร่วมทำร่วมสร้างมาแต่อดีต  ไม่ให้หลงลืมบรรพบุรุษ  การที่จะทำให้มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่ว่ามีการจัดต่อเนื่องกันมาจำเป็นต้องจัดต่อไป แต่ต้องเป็นการจัดแล้วทำให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความตระหนักเกิดการสืบทอดต่อองค์ความรู้ภูมิปัญญา และเป็นงานที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แสดงความรู้ความสามารถร่วมด้วย   การจะจัดในพื้นที่ปอยหมอไตในพื้นที่แม่ฮ่องสอนมีประเด็นฝากเพียงแค่ทำอย่างไรไม่ให้เกี่ยวพันกับในเรื่องทางการเมือง

ข้อคิดเห็นต่อการจัดปอยยกย่องครูหมอไตในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นางเพ็ญศรี นุชทรวง

          นางเพ็ญศรี นุชทรวง  จากการรับฟังจากผู้รู้ทั้งสองท่าน มองว่าสิ่งที่ทางแม่ฮ่องสอนให้ความสำคัญและปฏิบัติการมาต่อเนื่องจะเป็น ในเรื่องของการอยู่ร่วมกันอย่างมความสามัคคี การกตัญญูรู้คุณ ให้ความเคารพยกย่องบรรพบุรุษ ผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี เช่น การกั่นตอ การจัดงานรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุของป๊อกต่างๆ ในช่วงเดือนห้า เป็นต้น แต่ยังไม่มีการจัดงานเป็นรูปแบบปอยยกย่องพ่อครูหมอไต อย่างบ้านใหม่หมอกจ๋าม  มีความเห็นว่าการจัดเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเป็นเพียงการป่าวประกาศให้คนมาร่วม ใช้งบประมาณ ขาดรูปแบบวิธีการที่จะทำให้เห็นหรือตระหนักถึงความเป็นไทใหญ่ ก็อาจจะเกิดประโยชน์น้อย

          การถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณี ต้องตระหนักในความเป็นแก่นแท้และความหมายของวัฒนธรรม โดยการปลูกฝังเยาวชนให้ตระหนักถึงความสำคัญวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง ให้รู้จักสำนึกเข้าไปในจิตใจ วัฒนธรรมนั้นถึงจะคงอยู่และถูกสืบทอดต่อไป

เกียรติศักดิ์ วนากมล

          - การสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของเรา เราต้องรู้ให้ได้ว่าจัดเพื่ออะไร เกิดประโยชน์อะไร เวลาเราจัดงานอย่างคิดเพียงแต่งานสนุกสนาน ก็จะทำให้เกิดการลดความสำคัญของทางวัฒนธรรมประเพณีที่แท้จริงไป

          - การเตรียมการถ้าจะจัดในแม่ฮ่องสอน ต้องมีกระบวนการที่ทำให้คนในชุมชนเกิดการมีส่วนร่วม เห็นความสำคัญ ไม่ใช่เพียงเน้นแต่รูปแบบพิธีการ ต้องมีการเตรียมชุมชนให้พร้อมก่อน  เมื่อก่อนมีการใช้การฮอลีกนการสื่อสารที่มาของทางวัฒนธรรมต่างๆ แต่ในปัจจุบันเราจะมีวิธีการสื่อสารอย่างไรให้เกิดความเข้าใจความตระหนักเช่นการฮอลีก

          - คนไต มีความเชื่อส่วนหนึ่งว่า ไม่มีในประเพณี อย่าทำให้มีในประเพณี ซึ่งขาดการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในที่สุดก็ถูกลดความสำคัญและสูญหายไป การมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความรู้ความสามารถของตนเองด้วยแต่ยังคงเอกลักษณ์ หรืออัตลักษณ์ของความเป็นไทใหญ่ไว้

          - ถ้าเราไม่ทำให้คนเห็นว่ามันมีคุณค่า ก็จะเป็นการทำให้เพียงผ่านๆไป เอาความง่ายเข้าว่า ในที่สุดก็จะเป็นงานที่ไม่มีความสำคัญ และเกิดการสืบสานในสิ่งที่ผิดๆ

          - ต้องสร้างกระบวนการเตรียมความพร้อมภายในปีสองปีและให้เกิดการมีส่วนร่วมในคนทุกกลุ่มทุกวัย

นายประเสริฐ ประดิษฐ์

          - ปัจจุบันมีชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น อ.ปีเตอร์   ได้มาศึกษาเรียนรู้เรื่องภาษาไทใหญ่กับศูนย์ไทใหญ่ศึกษา เราจะทำอย่างไรให้คนแม่ฮ่องสอนลูกหลานคนแม่ฮ่องสอนเกิดความตระหนักเห็นความสำคัญเหมือนชาวต่างชาติเช่นนี้บ้าง

          - แม่ฮ่องสอน มีผู้รู้ภูมิปัญญาอยู่หลากหลาย บางคนได้รับการยกย่องเชิดชูจากที่อื่น แต่ภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเราเองยังขาดการให้ความสำคัญยกย่องเชิดชู และเรียนรู้จากผู้รู้ต่างๆเหล่านี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง

ความเห็นข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมเวทีอื่นๆ

ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนสตูล           

          ถึงพูดไปมากมายก็หายหมด แต่รอยจดด้วยพู่กันนั้นไม่หาย   ทุกอย่างในการอนุรักษ์สืบทอดทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาต่างๆ ล้วนแล้วแต่มาจากฐานของการเขียนหรือการบันทึกที่ดี 

          - เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเตรียมตัวในการจัดปอยปีใหม่ไตในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เสนอให้มีการนำผู้นำชุมชนหรือผู้มีความรู้ต่างๆ โดยวิทยาลัยชุมชนอาจจะเป็นเจ้าภาพ ไปดูงานศึกษาเรียนรู้รูปแบบวิธีการจัดงานของที่อื่นให้เข้าใจก่อนจะดีหรือไม่

         


ผลลัพธ์ของการจัดปอยพ่อครูหมอไต

          - เป็นวันที่ทำให้คนไตในหลายที่หลายทางเห็นความสำคัญ ได้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนกัน เหมือนเป็นวันชุมนุมของพี่น้องไต

          - เป็นงานที่ทำให้เกิดความรู้ เนื่องจากมีการจัดเวทีเสวนาความรู้ต่างๆภายในงานด้วย

 

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ร่วมเสวนา

          - แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นไตค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีสถาบันไทใหญ่ศึกษาเป็นกลไกขับเคลื่อนงานความรู้ แม่ฮ่องสอนจึงน่าจะสามารถเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์ไทใหญ่

          - การยกย่องครูหมอไต สามารถทำได้ในทุกที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ที่ใดที่หนึ่ง

          - การจะจัดงาน อย่าเริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่า ใครจะมาช่วย  จะทำให้เหมือนที่อื่นได้ยังไง ทำได้ขนาดไหนเราต้องรู้บริบทของเรา

 

กิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรมไทใหญ่ 

          ช่วงเย็น เวลา 18.30 – 22.00 น. นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และผู้มาร่วมกิจกรรม ศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมไทใหญ่ ฐานการเรียนรู้อาหารไทใหญ่ และ ฐานการเรียนรู้ศิลปะการแสดงวัฒนธรรมไทใหญ่ โดยมีวิทยากรให้ความรู้ สาธิต ประจำฐานนั้น ๆ

ฐานการเรียนรู้อาหารไทใหญ่

  1. ฐานการเรียนรู้การทำลาบไต                                     วิทยากร โดย นางอุษณี พงษ์วดี
  2. ฐานการเรียนรู้การทำฮังเล                                       วิทยากร โดย นางอัญชัญ ไหวดี
  3. ฐานการเรียนรู้การทำขั่งปองและการทำข้าวเส้นโก้             วิทยากร โดย นางมาลา เฉลิมผลวงศ์กุล
  4. ฐานการเรียนรู้การทำถั่วพูซิ่ง                                    วิทยากร โดย นางเวียงสอน ดอนแก้ว
  5. ฐานการเรียนรู้การทำเนื้อลุง                                     วิทยากร โดย นางสาวคนึงหา สุภานันท์
  6. ฐานการเรียนรู้การทำข้าวส้มการทำข้าวเหลือง                 วิทยากร โดย นางหลง วัชโรทร
  7. ฐานการเรียนรู้การทำหนังโก้                                     วิทยากร โดย นางนงเยาว์ ร่มโพธิ์
  8. ฐานการเรียนรู้การทำข้าวซอยจ่อ                                วิทยากร โดย นางสาวณัชชา จันทร์อนันต์
  9. ฐานการเรียนรู้การทำหมาก-ลางต๋ำ                             วิทยากร โดย นางต๋อย โพธิแสง
  10. ฐานการเรียนรู้การทำข้าวมูนโข่ย                                วิทยากร โดย นางส่วย วงค์ศิวกร
  11. ฐานการเรียนรู้การทำขนมสาระพู                               วิทยากร โดย นางเกษมณี ผ่องพันธุ์
  12. ฐานการเรียนรู้การทำข้าวปุก                                    วิทยากร โดย นางละ

ฐานการเรียนรู้การแสดงวัฒนธรรมไทใหญ่   

  1. ศิลปะการแสดงก้าปั่นกลอง บ้านห้วยเดื่อ
  2. ศิลปะการแสดงรำไต คณะม่านคำ
  3. ศิลปะการแสดงก้ากลองมองเซิง บ้านคาหาน
  4. ศิลปะการแสดงก้าลาย ก้าแลว สล่าหลาว
  5. ศิลปะการแสดงก้านก เยาวชนบ้านห้วยผา
  6. ศิลปะการแสดงก้านก ก้าโต คณะพ่อครูปายเมือง
  7. การแสดงของนักเรียนโรงเรียนเครือข่าย บ้านคาหาน,บ้านใหม่,บ้านในสอย
  8. การแสดงจ้าดไตคณะหมอกหอมเคอบ้านคาหาน

 


เวทีเสวนาวิชาการวัฒนธรรมไทใหญ่ วันที่ 24 มกราคม 2559

หัวข้อ “การจัดการศึกษาเพื่อชาติพันธุ์ไทใหญ่อย่างยั่งยืน”

สรุปเรื่อง

ประสบการณ์ แนวคิด กระบวนการ และผลลัพธ์ของการจัดการศึกษาของกลุ่มชาติพันธุ์

โดย  นางสาวพรพรรณ

มูลนิธิเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและสตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและสตรี และต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ มีโครงการเกี่ยวกับการศึกษาเป็นหลัก และโครงการสร้างเสริมศักยภาพ โครงการสารสนเทศ เช่นการจัดรายการวิทยุ จัดทำสารสนเทศเผยแพร่ ทางมูลนิธิได้ทำการสนับสนุนการเรียน จัดที่พักสำหรับเด็กกำพร้า เด็กด้อยโอกาส 3 หอพัก สนับสนุนการศึกษาจำนวน 13 โรงเรียน ประมาณ 2,000 กว่าคน  สนับสนุนทุนการศึกษา ค่าอาหารกลางวัน และค่าตอบแทนครูอาสา พื้นที่ดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอฝาง อำเภอเวียงแหง และจังหวัดเชียงราย มีการเรียนการสอนวัฒนธรรมและภาษาไทใหญ่ โดยใช้ครูอาสาในพื้นที่ ในแต่ละปีจะมีการแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนระหว่างครูนักศึกษาและนักเรียน อย่างน้อยปีละครั้ง การเรียนการสอนวัฒนธรรมในโรงเรียนจะใช้หลักสูตรตามกระทรวงศึกษาธิการ แต่จะเสริมเป็นวิชาเลือก หรือในชั่วโมงของกิจกรรม จากผลการดำเนินงานถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งจากการส่งเด็กนักเรียนเข้าประกวด ในระดับประถม และมัธยม ในระดับประเทศ ซึ่งจะมีตัวอย่างเช่น อำเภอฝาง ได้ส่งนักเรียนเข้าร่วมการประกวดเรียงความเรื่องค่านิยมหลัก 12 ประการ ชนะเลิศระดับประเทศ และส่วนหนึ่งคือวัดได้จากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เวลามีกิจกรรมก็จะได้รับความร่วมมืออย่างดี ผลการดำเนินงานการศึกษาคือ เด็กในกลุ่มเป้าหมายสามารถเรียนรู้ และเข้าใจในวัฒนธรรมของตนเองอย่างแท้จริง สามารถส่งต่อวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่ต่อไปได้

นายแสงเมือง มังกร

          วัฒนธรรมการศึกษาต้องเกิดจากความต้องการจากข้างในสู่ข้างนอก ต้องการการแสดงอัตลักษณ์ของตนเอง ไม่ใช่เกิดจากโครงสร้างเชิงพานิชและจากโครงสร้างที่รัฐกำหนด การเรียนภาษาไทใหญ่จะได้ความสนใจจากกลุ่มคนในภาครัฐในเรื่องความมั่นคง และในเรื่องการเชื่อมโยงการค้าขาย แต่ไม่ใช่ในเรื่องโครงสร้างของวัฒนธรรม เราจะทำอย่างไรให้คนภายนอกเข้าใจว่าการศึกษาภาษาไทใหญ่ เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

ข้อคิดเห็นของครูต่อการจัดการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทใหญ่ โดย นางอำไพ อินทร์บุญ

ทางโรงเรียนได้จัดการเรียนภาษาไทใหญ่โดยใช้สื่อที่หลากหลาย เช่นการใช้บัตรคำ การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ การเรียนจากเว็บไซต์  โดยจัดรูปแบบการเรียนเป็นหลักสูตรระยะสั้น 1 สัปดาห์ และมีใบประกาศให้ ความต้องการของโรงเรียนคือ ต้องการเครือข่ายวิทยากรสอนภาษาไทใหญ่


หัวข้อ  “การเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการค้าชายแดน กับพี่น้องไทใหญ่”

สรุปเรื่อง

การเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมและศาสนากับพี่น้องไทใหญ่  โดย พระปลัดจิตตพัฒน์  อัคคปัญโญ

การเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรม โดยใช้หลักศาสนาในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องไทใหญ่แม่ฮ่องสอนกับไทใหญ่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยการใช้ศรัทธาถวายพระพุทธรูปแก่วัด เป็นการเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรม ที่เกิดเป็นประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน โดยอาศัยหลักศาสนา ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็มีประเพณีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ถือเป็นกลยุทธ ที่ทำให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว และการค้าขายระหว่างกัน

การเชื่อมโยงการค้าชายแดน กับพี่น้องไทใหญ่  โดย ดร.ชยุต จิตธำรงสุนทร

ไตอาหม (อยู่รัฐอัสสัม)

          ไตมาว (อยู่เมืองมาว)

          ไตใต้คง (อยู่ฟากใต้แม่น้ำคง)

ไตเหนือคง (อยู่ฟากเหนือแม่น้ำคง)

ไตใหญ่ (กลุ่มใหญ่ที่สุด)

ไตน้อย (ไทย)

ไตโยน (อยู่ในแคว้นโยนก)

ไตเหนือ ไตใต้ หรือไตอิสาน

กลุ่มชาติพันธุ์ไทในรัฐฉาน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม

ชาวไทใหญ่ หรือไทหลวง (ไตโหลง)

ชาวไทลื้อ มีถิ่นฐานอยู่ในแคว้นสิบสองปันนาของประเทศจีน และทางตะวันออกของรัฐฉาน

ชาวไทเขิน (ไตขึน) เป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองเชียงตุง

ชาวไทเหนือ (ไตเหนอ) อาศัยอยู่ในแค้วนใต้คง (เต๋อหง) ของประเทศจีน

เส้นทางการค้าใหม่ 2 เส้นทาง

          แม่ฮ่องสอน-ตองอู-มัณทะเล่ย์(จุดผ่อนปรนห้วยต้นนุ่น)

          เชียงดาว-ตองยี-มัณทะเล่ย์  (จุดผ่อนปรนอรุโณทัย)

มีผู้บริโภคประมาณ

มัณทะเลย์           6,935,357  คน

เขตซาไก              4,977,966  คน

รัฐฉาน                4,675,555  คน

รัฐกะฉิ่น              1,254,381  คน

รัฐชิน                    487,361  คน

พะโค(ตองอู)

รวม                   18,330,620 คน

          จุดประสงค์ในการเปิดด่านชายแดน BP13 บ้านห้วยต้นนุ่น ความต้องการของคะยาคือต้องการเดินทางติดต่อกับจังหวัดเชียงใหม่ แต่เรายังไม่ทราบจุดประสงค์ที่แท้จริงของเรา แนวความคิดถ้าเปิด BP 13 เราจะใกล้ทะเลพม่า เชื่อมต่อกับลอยก่อที่มีความพร้อมด้านการพัฒนา มีการวางแผนเปิดสนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์  ส่วนเส้นทาง BP 9 เส้นทางบ้านยดอยแสงและบ้านในสอยเส้นทางจะสั้นกว่า BP 13

          ในการพัฒนาการค้ากับพม่าที่ผ่านมาเราได้มีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง ทั้งในการเชิญเขามา หรือเขาเชิญเราไป

นางสาวอรุณฉาย วีรติธนาพัฒน์

-          การที่จะทำธุรกิจกับพม่าต้องมีการศึกษาวางแผนด้านต่าง ๆ

-          พม่ามีหลายชนชาติ ประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลาย

-          จุดเด่น พม่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่มั่งคั่ง

-          การที่เราจะทำการค้าขายเราต้องรู้จักคนสำคัญในเมืองนั้น ๆ

-          ความต้องการสินค้าไทยของพม่าประมาณร้อยละ 80 ของสินค้านำเข้า

-          การค้าขายต้องมีความเป็นมิตร ต้องศึกษาเรื่องภาษาพม่า ไทใหญ่ อังกฤษ และการศึกษาวางแผนในการเดินทาง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

-->

จำนวนผู้เข้าชม : 2394

กลับหมวด กิจกรรมศูนย์ไทใหญ่