สถิติวันนี้ | 71 คน |
สถิติเดือนนี้ | 904 คน |
สถิติปีนี้ | 17,797 คน |
สถิติทั้งหมด | 230,594 คน |
ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2554 |
ประวัติความเป็นมา ศาลเจ้าเมือง เจ้าพ่อหลินหลำ (เจ้าพ่อดินดำ)
ศาลเจ้าเมืองแห่งที่สามของเมืองแม่ฮ่องสอน
โดย อาจารย์เก............................
ในอดีต
ตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งเป็นเมืองแม่ฮ่องสอน
ลุ่มน้ำแม่ฮ่องสอนบริเวณด้านทิศตะวันออกของวัดจองคำในปัจจุบัน เคยเป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยงมาก่อน
ที่ริมน้ำแม่ฮ่องสอนในบริเวณนั้นมีก้อนหินใหญ่อยู่ก้อนหนึ่ง ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นก้อนหินศักดิ์สิทธิ์
เพราะมีชาวกะเหรี่ยงนำเงินเหรียญโบราณ (เงินรูปี)ไปหยอดไว้ในรูหลืบหินใหญ่เพื่อส่งให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
โดยศพถูกฝังอยู่ในบริเวณแห่งนั้น จะได้นำไปใช้ในชาติหน้า
ตามความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่า ต่อมาชุมชนชาวกะเหรี่ยงได้เคลื่อนย้ายออกไป
ชาวไทยใหญ่และพม่าได้เข้ามาตั้งรกรากอาศัยบริเวณนั้นเป็นที่ทำสวน ไร่ นา
เมื่อทราบว่าก้อนหินใหญ่มีเงินเหรียญโบราณซุกอยู่ในรูหิน
บางคนได้นำไม้ยาวชุบยางไม้แหย่เข้าไปในรูดังกล่าว เพื่อตกเอาเงินเหรียญมาใช้ แต่ก็ไม่มีใครสามารถนำเงินนั้นออกมาได้
เมื่อดึงขึ้นมาเป็นต้องตกลงไปในรูหลืบหินนั้นทุกครั้งไป ความดังกล่าวรู้ถึงพระอูหน่าก๊ะ
เจ้าอาวาสวัดจองคำในสมัยนั้น เห็นว่าเป็นการรบกวนและขัดต่อความเชื่อดั้งเดิมของคนพื้นถิ่น
ท่านจึงนำซีเมนต์ไปอุดรูนั้นเสีย เพื่อป้องกันชาวบ้านไม่ให้ไปลักขโมยอีก
ต่อมาบริเวณแห่งนั้นได้กลายเป็นพื้นที่ของสำนักงานสรรพสามิตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ที่ใช้เป็นโรงต้มกลั่นเหล้าขาว โดยมีชาวบ้านในเมืองแม่ฮ่องสอนเข้ามาสัมปทานต้มกลั่นเหล้าเป็นรายๆไปตามยุคตามสมัยประกอบด้วยนายบุญรัตน์
ไหวดี พ่อขุนศรี นายเดช เล่าเรียนดี คนสุดท้ายคืออากู๋หรือนายเมธี ตันสกุล
ซึ่งมีลุงเล็กสือ นิ่มสกุล เป็นผู้จัดการโรงเหล้า
การต้มเหล้าในสมัยนั้นใช้เตาขนาดใหญ่ เผาไหม้ด้วยฟืน จึงมีเศษขี้เถ้า
ถ่านไม้เป็นจำนวนมาก ขี้เถ้าและถ่านไม้เหล่านั้นได้ถูกขนเอามาทิ้งที่บริเวณเนินห้วยเล็กๆด้านทิศตะวันตกของโรงต้มเหล้า
กองขี้เถ้าสูงขึ้นจนดูดำมืดไปหมด ชาวบ้านจึงตั้งชื่อบริเวณแห่งนั้นว่า
“กุงหลินหลำ” (เนินดินดำ) และด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกุงหลินหลำ
หรือทิศตะวันตกของโรงต้มเหล้า มีต้นไม้ฮุงใหญ่ (ต้นโพธิ์ใหญ่) อยู่ต้นหนึ่ง เดิมอยู่ในบริเวณวัดจองคำ
ที่ชาวบ้านในสมัยนั้นเชื่อว่ามีภูตผี เทวาอารักษ์สิงสถิตอยู่ จนได้ชื่อว่า
“เจ้าไม้โหลง” (เจ้าไม้ใหญ่) และชาวพม่าในเมืองแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “เจ้าโยคกะโจ”
(เป็นชื่อภูตผี เทวาอารักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ชาวพม่าใช้เรียกและเชื่อถือมาแต่โบราณ)
จึงมีชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ใกล้ต้นไม้ฮุงใหญ่ไปสร้างเข่งผีขึ้น (ศาลรุกขเทวดา)เพื่อเป็นสถานที่สักการบูชาภูตผี
รุกขเทวดาประจำต้นไม้ฮุงแห่งนั้น จากความศักดิ์สิทธิ์ของก้อนหินใหญ่
และความเชื่อเรื่องภูตผี เทวาอารักษ์ประจำต้นไม้ฮุงใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้กัน
ทำให้บริเวณลุ่มน้ำแม่ฮ่องสอนแห่งนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเคารพเชื่อถือ
และยำเกรงเรื่อยมา
ต่อมา
เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ได้ทำความตกลงกับวัดจองคำ
ขอตัดถนนผ่านไปทางทิศตะวันตกของต้นไม้ฮุงใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของวัด เชื่อมต่อถนนหน้าโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติ
2 ในการตัดถนนดังกล่าว จำเป็นต้องรื้อศาลที่ชาวบ้านสร้างบริเวณต้นไม้ฮุงออกไป เมื่อสร้างถนนเสร็จ
ต้นไม้ฮุงใหญ่จึงตกไปอยู่บริเวณเกาะกลางถนนที่ตัดใหม่ดังกล่าวแล้ว
ต่อมา ประมาณปีพ.ศ 2546 ป้านวล ซึ่งเป็นร่างทรงของเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก
ได้ฝันไปว่า เจ้าพ่อดินดำมาบอกว่าท่านไม่มีที่อยู่อาศัย จึงนำความฝันไปบอกเล่าแก่ลุงต่าเอ
ติยะวงศ์ ผู้ดูแลหอเจ้าเมือง เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ลุงต่าเอ
จึงได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับนายอนันต์ วันไชยธนวงศ์นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอนในสมัยนั้นแต่ไม่ได้รับการสนองตอบ
ต่อมาลุงต่าเอ จึงได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับนายสุเทพ นุชทรวง
นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอนในสมัยต่อมา นายสุเทพ นุชทรวง เห็นความสำคัญของหอเจ้าเมืองซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวแม่ฮ่องสอน
จึงได้อนุมัติเงินงบประมาณก่อสร้างหอเจ้าเมือง เจ้าพ่อหลินหลำ เป็นเงินจำนวน
150,000 บาท สร้างเสร็จและจัดทำพิธีมอบหอให้แก่เจ้าพ่อในปีพ.ศ.2554 ศาลเจ้าพ่อหลินหลำ
จึงเป็นศาลเจ้าเมืองแห่งที่สามของเมืองแม่ฮ่องสอน รองจากศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก
และศาลเจ้าพ่อเมืองแข่ ส่วนคำว่าเจ้าพ่อหลินหลำ ได้ชื่อตามกุงหลินหลำ
สถานที่ทับถมกองขี้เถ้าแห่งโรงต้มเหล้าในอดีตของเมืองแม่ฮ่องสอนที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง
สำหรับที่นั่ง
(ร่างทรง)ของเจ้าเมืองแห่งแรกของเมืองแม่ฮ่องสอน อันได้แก่
“เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก”ที่มีมาตั้งแต่อดีตแล้วนั้น เริ่มต้นด้วยป้าวันทำหน้าที่ร่างทรง
หลังจากป้าวันเสียชีวิต ก็เว้นว่างมาประมาณ 20 ปี ต่อมาป้าจิ่งปุ๊จึงได้มาทำหน้าที่
หลังจากเสียชีวิตแล้วป้าซื้อก็มาทำหน้าที่แทนป้าจิ่งปุ๊
คนสุดท้ายที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันนี้คือป้านวล
ซึ่งทำหน้าที่ร่างทรงของเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก และเจ้าพ่อหลินหลำด้วย สำหรับเจ้าพ่อหลินหลำนั้นชอบกลองมองเซิง
ควรนำกลองมองเซิงตีประโคมทุกครั้งเมื่อมีการประทับร่างทรงก็จะเป็นที่พอใจของเจ้าพ่อเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว
อ้างอิง ผู้ให้ข้อมูล
นายต่าเอ ติยวงศ์ ผู้ดูแลศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก
นายพิเชษฐ ใจดี
เจ้าของที่ดินบริเวณก้อนหินใหญ่
นายสุเทพ นุชทรวง
อดีตนายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน
จำนวนผู้เข้าชม : 2697