ลืมรหัสผ่าน / สมัครสมาชิก

สถิติวันนี้ 78 คน
สถิติเดือนนี้ 904 คน
สถิติปีนี้ 17,797 คน
สถิติทั้งหมด 230,594 คน
ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2554
  • ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ศูนย์ใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน
  • ၸုမ်းၾၢႆႇလဵပ်ႈႁဵၼ်းလွင်ႈတႆး ဝိတ်းထယႃးလႆးႀုမ်းႀူၼ်းမႄႈႁွင်ႈသွၼ် ႁူမ်ၸူမ်းႁပ်ႉတွၼ်ႈယူႇၶႃး

กลับหน้าหลัก ฐานข้อมูล

ประวัติ13 ชุมชนตำบลปางหมู

(02/04/2024 เวลา 16:12:12)

ประวัติชุมชนบ้านปางหมู หมู่ที่ ๑ ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

            ก่อนปี พ.ศ. ๒๓๗๔ บริเวณสองฝั่งลำน้ำปาย ได้มีชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐฉานประเทศสหภาพเมียนมาร์ มาตั้งรกราก ทำมาหากินด้วยการทำนา ทำสวน ทำไร่ อย่างกระจัดกระจาย สมัยนั้นยังไม่มีการรวบรวมผู้คนมาเป็นชุมชนถาวร

          ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๗๔ พระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าเมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้เจ้าแก้วเมืองมา เดินทางไปตรวจหัวเมืองทางตะวันตกและจับช้างป่า เข้ามาทางเมืองปาย แล้วล่องลงมาตามลำน้ำปาย พบชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายตามบริเวณลุ่มน้ำปาย จึงได้รวบรวมให้มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน แล้วตั้งพะก่าหม่อง เป็นผู้นำคนแรก เรียกว่าปู่เหง แล้วตั้งชื่อชุมชนว่า บ้านโป่งหมู เนื่องจากมีหมูป่ามาหากินบริเวณโป่งดินและโป่งน้ำอย่างชุกชุม ต่อมาเพี้ยนเป็นบ้านปางหมู

พะก่าหม่อง เป็นชาวไทใหญ่อพยพมาจากดอยงึน รัฐคะยา พร้อมกับลุงก้างโหลง ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ต่อมาลุงก้างโหลงได้เป็นปู่ก้างบ้านห้วยผา  ภรรยาของพะก่าหม่อง ไม่ปรากฏนาม ทราบแต่เพียงว่า พะก่าหม่องมีบุตรสาว ๒ คน คนหนึ่งชื่อนางใส ต่อมาได้แต่งงานกับพะก่าเติ้กซาน (ชานกะเล) มีบุตรด้วยกัน ๑ คนชื่อนางนุ เสียชีวิตตั้งแต่อายุได้ประมาณ ๓ ขวบ ต่อมานางใสก็เสียชีวิตลง พะก่าเติ้กซานจึงได้ภรรยาใหม่ชื่อนางเมี๊ยะ มีศักดิ์เป็นหลานสาวของเจ้าฟ้าโกหล่าน ซึ่งต่อมาภายหลัง พวกเขาทั้งสองพร้อมด้วยปู่ขุนโท๊ะได้

อพยพลงไปรวบรวมผู้คนตั้งเป็นชุมชนที่ขุนยวม ต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าฟ้ามาปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นองค์ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ตามลำดับ สำหรับบุตรสาวของพะก่าหม่องอีกคนหนึ่งไม่ทราบนาม ได้เป็นภรรยาของแสนโกม ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าแก้วเมืองมา ให้เป็นปู่ก้างปกครองเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก

          หลังจากนั้นไม่มีบันทึก หลักฐาน หรือแม้แต่คำบอกเล่าที่แน่ชัดว่าทั้งพะก่าหม่องและบุตรเขยคือแสนโกม ได้อพยพโยกย้ายไปอยู่ที่แห่งใด หรือมีผู้สืบเชื้อสายเป็นใคร สันนิษฐานว่าคงพากันอพยพเข้าไปทางฝั่งพม่าจนหมดสิ้น หลังจากมีข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าฟ้าโกหร่านกับเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๑๒

 ต่อมาบ้านปางหมู ได้เปลี่ยนผู้นำมาเป็นตำแหน่งแก่บ้าน ส่วนตำแหน่งแข้นหรือปู่เหงตกที่บ้านในสอย ลุงแก่อ่อน ซึ่งมีชื่อเดิมว่า เขิ่ง  เกิดที่บ้านหัวน้ำแม่ฮ่องสอน ได้มาทำหน้าที่แก่บ้านต่อจากพะก่าหม่อง ตอนหลังแก่อ่อนได้อพยพไปอยู่ในรัฐฉาน ด้วยเหตุผลที่สร้างความไม่พอใจจากชาวบ้าน กรณีนำลีกโหลง (กวามโหลง) มาแต่งเป็นทำนองล่องคง (กวามอ่อน) ถูกตำหนิว่าเอานิทานชาดกที่เป็นของสูงมาแต่งเป็นทำนองกวามอ่อนร้องเล่นสนุกสนาน เป็นการไม่สมควร ต่อมาภายหลังลุงแก่อ่อน ได้รับการยกย่องจากชาวไทใหญ่ว่า “เป็นสุนทรภู่แห่งวรรณกรรมไต”ชาวไตจึงขนานนามให้ว่า “จเรปางหมู”  เนื่องจากได้แต่งวรรณกรรมเป็นทำนองล่องคง มากกว่า ๒๐ เรื่อง เรื่องเอกที่ชาวไตรู้จักกันทั่วไปคือ ขุนสามลอนางอูเป่ม เมื่ออพยพไปอยู่ในรัฐฉาน ได้จเรปางหมูได้ส่งจดหมายมาถึงลูกสาวชื่อ แม่เฒ่าผิว เป็นวรรณกรรมสำคัญที่เกี่ยวกับตำราโหราศาสตร์ของชาวไต เรียกว่า นางก้าด

หลังจากนั้น บ้านปางหมู ได้มีผู้นำคนที่สาม ชื่อแก่น้อยแก้ว ต่อมาได้รับการประทานนามสกุล “คำคุณ” จากสตรีผู้สูงศักดิ์ท่านหนึ่งที่มาร่วมตรวจราชการกับผู้นำระดับสูง ชาวบ้านเรียกว่าราชินี โดยไม่ทราบแน่ชัดว่า เป็นเจ้าแม่ของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ หรืออาจเป็นภริยาของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อคราวเสด็จตรวจหัวเมืองเหนือ นอกจากนี้ยังได้ประทานนามสกุลให้นายหวุ่นนะว่า “คำบุญ” โดยตรัสประโยคสั้นๆว่า “แก่น้อยแก้ว คำคุณ นายหวุ่นนะคำบุญ”

          ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๔๓ หลังจากมีการรวมกรุงรัตนโกสินทร์กับล้านนาเข้าด้วยกัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการปกครองเสียใหม่ โดยมีตำแหน่งกำนันเป็นผู้นำระดับตำบล ในช่วงนี้บ้านปางหมูได้ถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งตำบล มีการแต่งตั้งแข้นน้อยหม่อง เป็นกำนันคนแรก แข้นน้อยหม่องเกิดที่บ้านกุงไม้สัก มาได้ภรรยาที่บ้านปางหมูชื่อแม่เฒ่าฟู  ต่อมาแข้นน้อยหม่องได้รับพระราชทานนามเสียใหม่ว่า นายจุล จุลบุตร (สันนิษฐานว่าได้รับพระราชทานนามจากเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อคราวเสด็จมาตรวจหัวเมืองเหนือ ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินผ่านเมืองปาย เมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวมไปจนถึงเมืองยวมใต้) คำว่า “จุลบุตร”น่าจะมีความหมายเป็นเกียรติประวัติว่า เป็นบุตรหรือไพร่ฟ้าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

          แข้นน้อยหม่อง หรือนายจุล จุลบุตร ดำรงตำแหน่งกำนันได้ไม่นานก็ลาออก ผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นกำนันคนที่ ๒ คือกำนันจีนะ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ได้ ๖ ปี ก็เกิดปัญหาความไม่พอใจจากชาวบ้านกรณีงบประมาณสร้างศาลากลางบ้าน จึงถูกชาวบ้านบีบบังคับให้ลาออก หลังจากนั้นนายจุล จุลบุตร ก็ถูกทางการร้องขอให้มาดำรงตำแหน่งกำนันอีกครั้งหนึ่งเป็นสมัยที่สอง ถือได้ว่าเป็นกำนันที่ปกครองตำบลปางหมูถึงสองสมัย

          เมื่อนายจุล จุลบุตร ถึงแก่กรรม ทางราชการก็ได้แต่งตั้งกำนันวงศ์ เป็นกำนันคนที่ ๔ เมื่อกำนันวงศ์ ถึงแก่กรรม ทางราชการจึงได้แต่งตั้งนายหว่าหล่ำมะ หรือ นายผล สุทธิเวช เป็นกำนันคนที่ ๕  ปกครองตำบลปางหมูจนครบเกษียณอายุราชการตามกฎหมายใหม่ ส่วนการสรรหากำนันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบการแต่งตั้ง มาเป็นระบบการคัดเลือกแทน นายปิน สะอาดจิตต์ จึงได้รับการคัดเลือกเป็นกำนันคนที่ ๖ เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ชาวบ้านจึงคัดเลือกนายเหน่ คำแสน มาเป็นกำนันคนที่ ๗ หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ทางการจึงจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ขึ้น ปรากฏว่านายยงยุทธ รักเรียน ได้ผ่านการเลือกตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปางหมูมาจนถึงปัจจุบัน

 

ชุมชนบ้านปางหมู ถือได้ว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ มีรูปแบบการปกครองแบบศักดินาตามแบบฉบับของล้านนา จึงปรากฏว่ามีที่นาประจำตำแหน่งผู้นำและผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับชุมชน ดังนี้

๑.      นาแข้น  ตั้งอยู่ตรงบริเวณนาหัวบ้าน

๒.      นาหล่าส่อ และจเร ตั้งอยู่ตรงบริเวณนาตกปาย ลุงน้อยจ่า ทำหน้าที่หล่าส่อ

๓.      นาหมอแพทย์ ตั้งอยู่ตรงบริเวณนาหมากปิน

๔.      นาวัด ตั้งอยู่ตรงบริเวณนาหมากปิน ใกล้กับนาหมอแพทย์

๕.      นา กยอง ตั้งอยู่ตรงบริเวณปายรีสอร์ท ใกล้กับนาแข้น

นาที่เป็นสมบัติของส่วนรวมเหล่านี้ ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปิน สะอาดจิตต์ อดีตกำนันตำบลปางหมู จึงได้ทำเรื่องขอเช่าจากทางราชการไว้ทำกินตลอดชีพ ตราบจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ชุมชนบ้านปางหมู ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของเมืองแม่ฮ่องสอน สมควรที่ลูกหลานทุกคนจะต้องเรียนรู้ สืบสาน ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าเมืองแห่งประวัติศาสตร์ของพี่น้องชาวไทใหญ่ และชาวล้านนา จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบันนี้

 

สภาพทางภูมิศาสตร์ และการคมนาคมของบ้านปางหมู

          ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขา พิกัด LB 115403 มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

          ทิศเหนือ                   ติดต่อกับ         บ้านกุงไม้สัก

          ทิศใต้                       ติดต่อกับ         บ้านทุ่งกองมู

          ทิศตะวันออก              ติดต่อกับ         แนวภูเขา

          ทิศตะวันตก                ติดต่อกับ         แนวภูเขา

การคมนาคม

          มีทางหลวงหมายเลข 1095 ผ่านเข้าหมู่บ้าน มีรถประจำทางสายแม่ฮ่องสอน – เชียงใหม่ ผ่านหมู่บ้าน การเดินทางสะดวก ระยะทางห่างจากตัวเมือง ๗ กิโลเมตร

          ประชากร

          มีทั้งสิ้น ๖๙๘ หลังคาเรือน ๖๒๒ ครัวเรือน จำนวนประชากร ชาย ๙๗๒ คน หญิง ๙๕๖ คน รวมทั้งสิ้น ๑,๙๒๘ คน

          ผู้สูงอายุ ชาย ๑๑๗ คน หญิง ๑๖๖ คน รวม ๒๘๓ คน

          ผู้พิการ มี ๕๑ คน ประกอบด้วยพิการทางสติปัญญา ๖ คน ทางกาย ๒๓ คน ทางการมองเห็น ๖ คน พิการทางพฤติกรรม ๔ คน ทางการได้ยิน ๑๐ คน ออทิสติก ๒ คน

          ต่างด้าว จำนวน ๖๖๖ คน ชาย ๓๕๑ คน หญิง ๓๑๕ คน

อาชีพ

            ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน พืชเศรษฐกิจของชุมชนได้แก่ ถั่วเหลือง งา ถั่วลิสง กระเทียม การอุตสาหกรรมในครัวเรือน มีการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพ ทั้งหมด ๑๗ กลุ่ม กลุ่มสำคัญที่ทำรายได้ให้แก่ชุมชนประกอบด้วย กลุ่มถั่วเน่าแผ่น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากงา กลุ่มตัดเย็บเสื้อไต กลุ่มสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นต้น

            ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี

            ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ทุกวันพระหรือวันธรรมสวนะ ประชาชนจะทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ผู้สูงอายุทั้งชายหญิงจะไปรักษาอุโบสถศีลที่วัดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา และประชาชนจะหยุดพักการทำงานตามเรือกสวนไร่นาในวันพระ

การอนุรักษ์ สืบสานถ่ายทอด ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น

ชุมชนบ้านปางหมูยึดมั่นและให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสาน ถ่ายทอด ฟื้นฟู กิจกรรมประเพณีไต โดยยึดถือตามบ่อเกิดประเพณี ๑๒ เดือน ที่อยู่ในปั๊บสาโบราณที่มีชื่อว่า “ต๊ะ ซะ นิด หย่า สี่ ซิบ สอง เหลิน ซาก เส่ อู ต่าน”อันประกอบไปด้วย

      เดือนเจ๋ง หรือเดือน ๑    ประเพณีตานข้าวใหม่ ก้าบซอมอู (การตำข้าวปุก)

     เดือนก๋ำ หรือเดือน ๒     ประเพณีการเข้าปริวาสกรรมและมานัต

     เดือน ๓     ประเพณีตานข้าวหย่ากู้ และปอยหลู่หลัว

     เดือน ๔     ประเพณีปอยส่างลอง

เดือน ๕     ปอยซอนน้ำ (ปอยเหลินห้า)

     เดือน ๖     ปอยจ่าตี่  ต่างซอมต่อโหลง

     เดือน ๗     ปอยเลี้ยงเมือง และวานปะลีก (ทำบุญสี่มุมเมือง)

     เดือน ๘     ปอยเข้าหว่า (แห่เทียนเข้าพรรษา) ต่างซอมต่อโหลง

     เดือน ๙     ปอยจ่าก้า และต่างซอมต่อโหลง

     เดือน ๑๐   ปอยจ่าก้า และต่างซอมต่อโหลง

     เดือน ๑๑   ปอยแฮนซอมโก่จา ปอยกาดพิ้ด ปอยจองพารา ปอยตักบาตรเทโวโรหณะ ปอยหลู่เตนเหง ปอยอ่องจ้อด หรือก๋อยจ้อด (หลู่ต้นเตน)

     เดือน ๑๒   ปอยล่องผ่องไต  ปอยหวั่งกะป่า ปอยส่างกานกฐิน ปอยส่างกานคำ ปอยดับไฟเตน

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

การตีมีด การจักสาน การตัดเย็บเสื้อไต การทำขนมงา การอีกน้ำมันงา การทำถั่วเน่าแผ่น การทำถั่วแปหล่อปอจ่อ การสานกุ๊บไต การก้านก ก้าโต การตีกลองก้นยาว การก้าลายไต การทำอาหารไต

จำนวนผู้เข้าชม : 172

กลับหน้าหลัก ฐานข้อมูล